มีนักลงทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติจำนวนไม่น้อยที่ให้ความสนใจกับการทำธุรกิจในประเทศไทยมากกว่าประเทศอื่น เนื่องจากประเทศไทยเรามีข้อได้เปรียบอยู่หลายประการไม่ว่าจะเป็นด้านทรัพยากร ภูมิอากาศ ภูมิประเทศ ที่ตั้งเหมาะกับการเป็นศูนย์กลางของอาเซียน โดยเฉพาะการขนส่งและการคมนาคมทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ มีแรงงานทักษะฝีมือคุณภาพจำนวนมาก มีวัตถุดิบทางการเกษตรที่มีศักยภาพทั้งปริมาณและคุณภาพ มีผลผลิตทางการเกษตรที่หลากหลาย เช่น ข้าว ยางพารา อ้อย ผักและผลไม้สด ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพียงพอที่จะสร้างกำไรและผลตอบแทนหลายๆ อย่างให้กับนักลงทุนที่มาลงทุนในประเทศไทยแล้ว

ดังนั้น ทางรัฐบาลจึงได้จัดตั้งโครงการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ขึ้นมา แล้ว BOI คืออะไรหล่ะ นี่คงเป็นคำถามที่หลายท่านสงสัย  BOI มีขึ้นเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้กับนักลงทุนที่ต้องการทำธุรกิจในประเทศไทย และเพิ่มความน่าดึงดูดให้กับนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนมากขึ้นไปอีก

BOI คืออะไร??

BOI ย่อมาจาก Board of Investment คือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือและส่งเสริมการลงทุนให้กับกิจการที่อยู่ใน BOI เพื่อเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศไทย โดยการช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุน ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายเริ่มต้นในการลงทุนและเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุน ช่วยให้คำปรึกษาและบริการในการลงทุน เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้มาลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งบริษัทที่จะเข้าร่วม BOI ได้ต้องผ่านหลักเกณฑ์และตรงตามเงื่อนไขของ BOI เท่านั้น

ศึกษาหลักเกณฑ์การส่งเสริมการลงทุนได้ที่นี่

บริการหลักของ BOI

  1. ให้คำปรึกษาแนะนำ ข้อมูลด้านการลงทุน และขอรับส่งเสริมการลงทุน
  2. ประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน
  3. เชื่อมโยงและจัดหาผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ
  4. การจัดหาผู้ร่วมทุน
  5. แนะนำและรับรองผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยศูนย์บุคลากรทักษะสูง (Strategic Talent Center: STC)
  6. แนะนำการลงทุนของคนไทยในต่างประเทศ และจัดอบรมหลักสูตรการลงทุนของคนไทยในต่างประเทศ

สิทธิประโยชน์เมื่อได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI

สิทธิประโยชน์ด้านภาษี

  1. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 13 ปี (ขึ้นกับประเภทกิจการและเงื่อนไข)
  2. ลดหย่อนภาษีเงินได้ 50% อีก 5 ปี (เฉพาะเขตส่งเสริมการลงทุน)
  3. ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร
  4. ยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบผลิตเพื่อการส่งออก
  5. ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับของที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในการวิจัยและพัฒนา

สิทธิประโยชน์ที่ไม่เกี่ยวกับภาษี

  1. อนุญาตต่างชาติถือหุ้น 100% (ยกเว้นกิจการตามบัญชีหนึ่งท้ายพระราชบัญญัติประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวหรือที่มีกฎหมายอื่นกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ)
  2. อนุญาตให้ถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน
  3. อนุญาตให้ช่างฝีมือ/ผู้ชำนาญการเข้ามาทำงาน

8 ประเภทกิจการที่ BOI ให้การส่งเสริมการลงทุน

  1. เกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตร เช่น กิจการปลูกไม้เศรษฐกิจ, กิจการปุ๋ยชีวภาพและปุ๋ยเคมี, กิจการด้านการเกษตรกรรมต่าง ๆ
  2. แร่ เซรามิกส์ และโลหะขั้นพื้นฐาน เช่น กิจการเหมืองแร่ ตัดและผลิตโลหะ, กิจการผลิตแก้วและเซรามิคส์
  3. อุตสาหกรรมเบา เช่น กิจการสิ่งทอ, กิจการผลิตกระเป๋าหรือรองเท้า, กิจการผลิตของเล่น
  4. ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง เช่น กิจการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และเครื่องจักร
  5. อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เช่น กิจการซอฟท์แวร์และการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
  6. เคมีภัณฑ์ พลาสติก และกระดาษ เช่น กิจการผลิตบรรจุภัณฑ์จากกระดาษ, กิจการผลิตยา, กิจการผลิตพอลิเมอร์
  7. การบริการและสาธารณูปโภค เช่น กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานไฟฟ้าและไอน้ำจากขยะ หรือเชื้อเพลิงจากขยะ, กิจการนิคมและการพัฒนา, กิจการ Cloud service
  8. การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น กิจการพัฒนาไบโอเทคโนโลยี, กิจการพัฒนานาโนเทคโนโลยี, กิจการพัฒนาดิจิทัลเทคโนโลยี
สิทธิประโยชน์ของสมาชิก BOI คืออะไร

การขอรับ BOI มี 8 ขั้นตอน

1. ศึกษาข้อมูล

ผู้ขอรับ BOI ศึกษาข้อมูลผ่านทาง www.boi.go.th หรือ BOI ส่วนกลาง ภูมิภาค สำนักงานต่างประเทศ

2. ยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุน (ยื่น Online เท่านั้น)

ผู้ขอรับ BOI ยื่นคำขอผ่านระบบ e-Investment Promotion ทาง www.boi.go.th

3. ชี้แจงโครงการ

ผู้ขอรับ BOI นัดหมายเจ้าหน้าที่ BOI ผู้รับผิดชอบโครงการ เพื่อชี้แจงโครงการ ภายใน 10 วันทำการ นับตั้งแต่วันยื่นคำขอ

4. วิเคราะห์โครงการ

เจ้าหน้าที่ BOI ดำเนินการวิเคราะห์โครงการ โดยใช้ระยะเวลาการพิจารณาตามขนาดการลงทุน

5. แจ้งผลการพิจารณา

เจ้าหน้าที่ BOI ดำเนินการแจ้งผลพิจารณา ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่รับรองรายงานการประชุม

6. ตอบรับมติการส่งเสริมการลงทุน

ผู้ขอรับ BOI ตอบรับมติการส่งเสริมการลงทุน ภายใน 1 เดือน นับตั้งแต่ได้รับหนังสือแจ้งมติ ได้ 2 ช่องทาง คือ ผ่านระบบ e-Investment Promotion หรือยื่นแบบตอบรับมติ BOI (แบบฟอร์ม F GA CT 07)

7. ขอรับบัตรส่งเสริม

ผู้ได้รับ BOI ยื่นขอรับ “บัตรส่งเสริม” พร้อมหลักฐานประกอบการพิจารณา ภายใน 6 เดือน ได้ 2 ช่องทาง คือ กรอกแบบฟอร์มผ่านระบบ e-Investment Promotion ทาง www.boi.go.th หรือกรอกแบบประกอบการขอรับบัตรส่งเสริม (แบบฟอร์มF GA CT 08) พร้อมยื่นเอกสารหลักฐานประกอบการออกบัตร

8. ออกบัตรส่งเสริม

เจ้าหน้าที่ BOI ดำเนินการออก “บัตรส่งเสริม” ภายใน 10 วันทำการ นับจากวันที่สำนักงานได้รับแบบฟอร์มขอรับบัตรส่งเสริมและหลักฐานครบถ้วน

สำหรับใครที่สนใจหรือต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิก BOI สามารถอ่านรายละเอียดการให้บริการด้าน BOI Solotion ของเราได้ หรือสามารถรับคำปรึกษาผ่านช่องทาง Line ID : plusitiveaccounting

บทความโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

เรียบเรียงโดย Plusitive Accounting Team