วัตถุประสงค์หลักของการบริหารการเงินของบริษัทจดทะเบียนคือ การสร้างความมั่งคั่งสูงสุดให้กับผู้ถือหุ้น ที่สะท้อนผ่านผลประกอบการและมูลค่าของบริษัท โดยการจัดทำประมาณการทางการเงิน (Financial Projection) จะช่วยให้ผู้บริหารของบริษัทเห็นรายการที่สำคัญในงบการเงิน สมมติฐานและปัจจัยที่ส่งผลต่อมูลค่าของบริษัท เพื่อให้สามารถบริหารจัดการ ตัดสินใจลงทุนเพื่อให้ผลการดำเนินงานและมูลค่าของบริษัทเติบโตอย่างยั่งยืน บทความนี้ จึงขอนำเสนอกระบวนการจัดทำประมาณการทางการเงินและการประเมินมูลค่าหุ้น ที่ประกอบด้วย 14 ขั้นตอน ดังนี้

สำหรับใครที่ต้องการอ่านเฉพาะบางหัวข้อ สามารถกดเลือกอ่านได้ที่นี่ครับ

เนื้อหา

1. การรวบรวมข้อมูลทางการเงิน (Preparing Past Financial Statement)

งบการเงินเป็นภาพสะท้อนผลการดำเนินงานของบริษัท ดังนั้นในการคาดการณ์ผลประกอบการของกิจการในอนาคตนั้น ต้องอาศัยข้อมูลรายการต่างๆ จากงบการเงินย้อนหลังของบริษัทซึ่งประกอบไปด้วย งบแสดงฐานะการเงิน งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ งบกระแสเงินสด และอัตราส่วนทางการเงิน เพื่อนำมาวิเคราะห์ผลประกอบการในอดีตและใช้ในการกำหนดแนวโน้มการเติบโตของกิจการในอนาคต ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลสาธารณะที่สามารถหาได้จาก รายงานประจำปีของกิจการหรือแบบรายงาน 56-1 ที่บริษัทจดทะเบียนต้องเปิดเผยข้อมูลให้ผู้มีส่วนได้เสียทราบ

2. การกำหนดสมมติฐานการดำเนินงาน (Building up Assumptions)

หลังจากรวบรวมข้อมูลงบการเงินในอดีตของกิจการแล้ว ขั้นตอนต่อมา คือ การกำหนดสมมติฐานการเติบโตของปัจจัยสำคัญในงบการเงินที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงกระแสเงินสดและฐานะการเงินของกิจการในอนาคตโดยเริ่มต้นที่การกำหนดอัตราการเติบโตของยอดขายในอนาคต โดยอาจกำหนดเป็นการเติบโตของยอดขายเมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP) รวมถึงกำหนดต้นทุนการขายสินค้า รายได้และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน งบประมาณลงทุน ไปตามลำดับ

3. การประมาณการเติบโตยอดขายในอนาคต (Forecast Sale Growth)

ยอดขายถือเป็นตัวแปรสำคัญในการประมาณการทางการเงิน เนื่องจากมูลค่าสินค้าและบริการที่กิจการจะขายได้ในอนาคตมีความสัมพันธ์กับ ต้นทุนวัตถุดิบ ระดับสินค้าคงเหลือ รายได้และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ส่งผลโดยตรงต่อกำไรของบริษัท รวมถึงการวางแผนจัดหาเงินและการลงทุนของกิจการในอนาคต โดยทั่วไปวิธีการประมาณยอดขายแบ่งได้ 2 วิธีดังนี้

  • Bottom Up Method เป็นวิธีการพยากรณ์ที่อาศัยความเห็นของฝ่ายบริหารหรือพนักงานขายที่ถือเป็นผู้มีประสบการณ์ และใกล้ชิดกับการดำเนินงานของกิจการ เป็นผู้คาดการณ์ยอดขายในอนาคต และนำข้อมูลที่ได้รับมาพิจารณาถึงศักยภาพ และแผนการลงทุนในอนาคตของกิจการ
  • Top-Down Method วิธีนี้เป็นการวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการเติบโตของยอดขายในอดีตกับอัตราการเปลี่ยนแปลงของค่าเฉลี่ยการเติบโตของอุตสาหกรรมหรืออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP) แสดงได้ดังนี้
    • ตัวอย่างการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรตามและตัวแปรอิสระ (Regression Analysis) จากข้อมูลในอดีตย้อนหลัง 10 ปี โดยกำหนดให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP Growth) เป็นตัวแปรอิสระและอัตราการเติบโตยอดขายของกิจการ (Sales Growth) เป็นตัวแปรตาม เมื่อพิจารณาจากค่า R Square ที่ได้มีค่าเท่ากับ 0.971 แสดงว่าตัวแปรทั้ง 2 มีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญ และจากค่าสัมประสิทธิ์สมการถดถอยที่ได้ (Regression Coefficient) สามารถพยากรณ์ได้ว่าหาก GDP ปี 2565F เติบโตที่ระดับ 5.00% ยอดขายของกิจการใน ปี 2565F จะเติบโตเท่ากับ 9.96% ดังนี้

ทั้งนี้เพื่อให้การประมาณการยอดขายมีความแม่นยำและสอดคล้องกับความสามารถในการเติบโตของกิจการ ผู้วิเคราะห์ควรพิจารณาทั้งวิธี Top-Down และ Bottom Up Method ประกอบกัน

4. ประมาณการต้นทุนขาย (Cost of goods sold)

ต้นทุนขาย หมายถึง ต้นทุนในการผลิตสินค้าและค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ทำให้สินค้าอยู่ในสภาพพร้อมจำหน่าย เช่น ค่าวัตถุดิบ ค่าขนส่ง เป็นต้น ซึ่งต้นทุนส่วนนี้ถือว่ามีความสัมพันธ์กับยอดขาย กล่าวคือถ้ากิจการต้องการเพิ่มยอดขายให้สูงขึ้น ต้นทุนขายก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยปกติแล้วจึงสามารถนำตัวเลขการเติบโตของยอดขายในแต่ละปี มาใช้ประมาณการเป็นต้นทุนขายที่จะเพิ่มขึ้นได้ ตัวอย่างเช่น จากขั้นตอนที่ 1 เราประมาณการอัตราการเติบโตของยอดขายในปี 2565F เพิ่มขึ้นจากปี 2565 เท่ากับ 9.96% ดังนั้น ผู้วิเคราะห์ก็สามารถประมาณได้ว่าต้นทุนขายของกิจการในปี 2565F จะเพิ่มขึ้นในอัตรา 9.96% เช่นเดียวกัน ตามข้อมูลในตารางที่ 2.1 โดยวัตถุประสงค์ของขั้นตอนนี้ต้องการหาว่า จากยอดขายหรือรายได้ที่กิจการสร้างมานั้น เมื่อหักออกด้วยต้นทุนขายแล้วจะเหลือเป็นกำไรขั้นต้น (Gross Profit) จำนวนเท่าใด เพื่อวิเคราะห์ถึงความสามารถในการหารายได้และการควบคุมต้นทุนของกิจการ

5. ประมาณการค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (Operating Expenses Budget)

นอกจากต้นทุนขายแล้วกิจการยังมีต้นทุนอีกส่วนหนึ่ง คือ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานซึ่งประกอบไปด้วย ค่าใช้จ่ายเงินเดือนพนักงาน ค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์ ค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการขาย และค่าเช่าอาคารสถานที่
เป็นต้น ซึ่งรายการทั้งหมดที่กล่าวมานี้มีผลกระทบต่อกำไรของกิจการทั้งสิ้น ดังนั้นในการประมาณการค่าใช้จ่ายจึงต้องสอดคล้องกับแผนการขยายกิจการในอนาคต ตัวอย่างเช่นในปี 2565F ผู้บริหารคาดการณ์ว่ากิจการจะขยายตัวได้ดีจึงต้องการปรับเพิ่มจำนวนพนักงานและอัตราเงินเดือนจากเดิมร้อยละ 10 ผู้วิเคราะห์ก็สามารถใช้ข้อมูลจากผู้บริหารมาช่วยประมาณการค่าใช้จ่ายในอนาคตได้ เป็นต้น ทั้งนี้เมื่อนำค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานไปหักออกจากกำไรขั้นต้น เราก็จะได้กำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษีเงินได้ และค่าเสื่อมราคาหรือ EBITDA นั่นเอง ตามข้อมูลในตารางที่ 2.1

6. การจัดทำงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ (Budgeted Statement of Income)

ขั้นตอนนี้เป็นการรวบรวมรายการที่ได้ทำประมาณการทางการเงินไว้บันทึกลงในงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ เพื่อวิเคราะห์ผลการดำเนินงานของกิจการในแต่ละรอบปี โดยมีหลักการบันทึกบัญชีจำแนกได้ 2 วิธี ดังนี้

งบกำไรขาดทุนแบบชั้นเดียว เป็นการบันทึกรายการที่แยกแสดงรายได้และค่าใช้จ่าย แล้วจึงนำรายได้ทั้งหมดหักด้วยค่าใช้จ่ายรวมเพื่อแสดงเป็นกำไรหรือขาดทุนสุทธิ วิธีนี้เป็นวิธีที่ง่าย แต่ข้อเสียคือการวิเคราะห์ความสามารถในการทำกำไรทำได้เพียงดูจากกำไรสุทธิ ไม่สามารถดูความสามารถในการทำกำไรด้านอื่นของกิจการได้

งบกำไรขาดทุนแบบหลายชั้น เป็นการบันทึกรายได้จากการขายหักด้วยค่าใช้จ่ายแต่ละประเภทตามลำดับขั้น ซึ่งทำให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากกว่า เนื่องจากผู้ใช้งบการเงินสามารถประเมินผลการดำเนินงานในรอบระยะเวลาจากกำไรในแต่ละขั้นตอน ได้แก่ กำไรขั้นต้น กำไรจากการดำเนินงาน กำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษีเงินได้และค่าเสื่อมราคา แสดงได้ดังนี้

ตัวอย่างประมาณการต้นทุนขาย ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ

ตารางที่ 2.1 ตัวอย่างประมาณการต้นทุนขาย ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ

ทั้งนี้กำไรข้างต้นเป็นเพียงกำไรจากการดำเนินงานเท่านั้น ในการหากำไรสุทธิที่อยู่ในบรรทัดสุดท้ายของงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จนั้น ต้องรวมรายการอื่นๆ เข้าไปด้วย เช่น ค่าเสื่อมราคาและดอกเบี้ยจ่าย จึงขอนำเสนอในขั้นตอนต่อไป

Financial Projection และการประมาณการเติบโตยอดขายในอนาคต (Forecast Sale Growth)

7. การประมาณค่าใช้จ่ายในการลงทุน (Capital Expenditures Budget)

หรือที่เรียกกันว่า CAPEX นั้นหมายถึง ค่าใช้จ่ายในการลงทุนซื้อสินทรัพย์มาเพื่อใช้ในการดำเนินงานของบริษัท โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรก คือ ค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อสินทรัพย์ใหม่ (New Investment CAPEX) เช่น การซื้อที่ดิน อาคาร เครื่องจักรใหม่เพื่อรองรับปริมาณการผลิตและการขยายตัวของกิจการในอนาคต ส่วนที่สอง คือ ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาให้สินทรัพย์เก่าอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ (Maintenance CAPEX) เช่น การซ่อมแซมปรับปรุงโรงงาน เครื่องจักร ส่วนสุดท้ายคือ Replacement CAPEX คือ ค่าใช้จ่ายในการซื้อสินทรัพย์ใหม่เพื่อทดแทนสินทรัพย์เก่าที่มีอายุการใช้งานแน่นอน ซึ่งข้อมูล CAPEX เหล่านี้ผู้วิเคราะห์สามารถหาได้จากงบกระแสเงินสดจากการลงทุนของกิจการ หรือจากข้อมูลแผนการลงทุนในอนาคตของกิจการ ทั้งนี้เมื่อกิจการมีค่าใช้จ่ายการลงทุนเกิดขึ้นย่อมทำให้เกิดค่าเสื่อมราคาตามมา โดยวิธีการคิดค่าเสื่อมราคาอย่างง่ายที่นิยมใช้กันคือ การคิดค่าเสื่อมราคาแบบเส้นตรง

ตัวอย่างเช่น กิจการซื้อเครื่องจักรใหม่มูลค่า 60,000 บาท อายุการใช้งาน 5 ปี มีมูลค่าซาก 10,000 บาท

ค่าเสื่อมราคาต่อปีแบบเส้นตรง = (ราคาทุนของสินทรัพย์ – ราคาซาก) / อายุการใช้งาน

= (60,000 – 10,000) / 5 = 10,000 บาทต่อปี

โดยค่าเสื่อมราคาถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (Operating Expenses) ที่ยิ่งมีค่าสูงยิ่งทำให้กำไรสุทธิลดลง

8. การประมาณการเงินสดของกิจการ (Cash Budget)

อย่างที่เราได้ยินกันบ่อยครั้งในวงการธุรกิจว่า “Cash is King” อันเนื่องมาจากในยามเศรษฐกิจซบเซา กิจการส่วนใหญ่จะประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ทำให้ต้องขายทรัพย์สินเพื่อนำเงินสดมาใช้ในการดำเนินงาน หรือนำมาชำระหนี้เพื่อไม่ให้กิจการล้มละลาย และในยามที่ธุรกิจซบเซาคู่แข่งต้องปิดตัวลง กิจการที่มีเงินสดจำนวนมากจะมีโอกาสอยู่รอดสูงกว่า และสามารถพลิกกลับมาแข็งแกร่งได้เมื่อเทียบกับคู่แข่งอื่นๆ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการประมาณการเงินสด จึงเป็นขั้นตอนหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมาก ในขั้นตอนนี้ผู้วิเคราะห์จะต้องสรุปรายการรับและจ่ายเงินสดที่เกิดขึ้นในรอบปี เพื่อดูว่ากิจการมีเงินสดคงเหลือเพียงพอในการดำเนินกิจการและมีความจำเป็นต้องจัดหาเงินสดเพิ่มเติมมากน้อยเพียงใด หากกิจการไม่มีโครงการลงทุนที่มูลค่าเกินกว่าเงินสดที่มีก็ไม่มีความจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่ม เป็นต้น

9. การประมาณกำไรสะสม

ขั้นตอนนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ถึงความสามารถในการจ่ายเงินปันผลของกิจการ ซึ่งการที่กิจการจะสามารถจ่ายปันผลให้ผู้ถือหุ้นได้มากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงาน ความจำเป็นในการใช้เงินทุนหมุนเวียน และแผนการขยายธุรกิจในอนาคต ที่สำคัญการจ่ายปันผลนั้นบริษัทจะต้องมีเงินสดและกำไรสะสมเพียงพอ ประเด็นสำคัญที่ผู้วิเคราะห์ต้องพิจารณาคือ กิจการจะสามารถรักษาระดับการจ่ายเงินปันผลที่ต่อเนื่องไว้ได้หรือไม่ โดยดูจากกำไรสุทธิของกิจการต้องมีความสม่ำเสมอไม่ผันผวน กิจการมีระดับหนี้สินต่อทุนต่ำ มีกำไรสะสมอยู่มาก และมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะจ่ายปันผลอย่างต่อเนื่อง สำหรับกิจการที่มีเงินสดอยู่น้อยหรือต้องการเก็บเงินสดไว้ลงทุนโครงการในอนาคต สามารถเลือกจ่ายปันผลในรูปแบบอื่นได้ เช่น การจ่ายปันผลเป็นหุ้นสามัญ หรือการแตกหุ้น
เป็นต้น

นอกจากรายการต่างๆ ในงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จที่ได้นำเสนอไปแล้วนั้น บทความตอนต่อไปจะขอนำเสนอการจัดทำงบแสดงฐานะการเงิน งบกระแสเงินสด และการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน เพื่อเชื่อมโยงไปสู่การประเมินมูลค่าหุ้นต่อไป

10. การวิเคราะห์งบแสดงฐานะทางการเงิน (Statement of Financial Position)

หรือที่เราคุ้นเคยกันในชื่อเดิมว่า งบดุล (Balance Sheet) เป็นงบที่แสดงสถานะสินทรัพย์ (Asset) หนี้สิน (Liabilities) และส่วนของผู้ถือหุ้น (Shareholder’s Equity) ณ วันสิ้นงวด ในขั้นตอนนี้เป็นการจัดทำตัวเลขแต่ละรายการให้เป็นอัตราร้อยละเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของผู้ถือหุ้น เพื่อแสดงให้เห็นถึงรายการที่มีความสำคัญและมีสัดส่วนต่องบการเงินมากที่สุด โดยเรียกวิธีการนี้ว่าการวิเคราะห์ย่อส่วนตามแนวดิ่ง (Common-Size) ดังนี้

ตัวอย่างการวิเคราะห์ จากตัวเลขข้างต้นจะเห็นได้ว่าในปี 2565F สินทรัพย์ส่วนใหญ่ของกิจการอยู่ในรูปของเงินสดรองลงมาได้แก่ลูกหนี้ เมื่อวิเคราะห์ถึงสภาพคล่องพบว่ากิจการมีสินทรัพย์หมุนเวียนที่ประกอบด้วยเงินสด ลูกหนี้ และสินค้าคงเหลือ อยู่ที่ 71.93% มากกว่าหนี้สินหมุนเวียนที่ 33.70% หรือกล่าวได้ว่ากิจการมีสภาพคล่องที่ดีในการชำระหนี้ระยะสั้น เป็นต้น

11. การวิเคราะห์งบกระแสเงินสด (Statement of Cash Flow)

เป็นงบการเงินที่แสดงการเปลี่ยนแปลงเงินสดของกิจการในช่วงเวลารอบปีบัญชี ที่แสดงถึงการได้มาและใช้ไปของเงินสดผ่าน 3 กิจกรรมหลักคือ กระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน กระแสเงินสดจากกิจกรรมลงทุน และกระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงิน ซึ่งตัวเลขทางบัญชีในงบกระแสเงินสดที่ผู้วิเคราะห์ต้องให้ความสำคัญคือ “กระแสเงินสดอิสระ (Free Cash Flow)” โดยทั่วไปสามารถคำนวณได้จากการนำกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ลบด้วยรายจ่ายลงทุน (Capital expenditure : CAPEX) และเงินปันผลจ่ายให้ผู้ถือหุ้น ทั้งนี้กระแสเงินสดอิสระของกิจการถือเป็นตัวแปรสำคัญในการประเมินมูลค่าหุ้นสามัญด้วยวิธีคิดลดกระแสเงินสด (Discounted Cash Flow Model) ซึ่งมูลค่าหุ้นจะมากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับกระแสเงินสดทั้งหมดที่กิจการสามารถสร้างขึ้น ดังนั้นการวิเคราะห์ในขั้นตอนนี้จะทำให้สามารถคาดการณ์กระแสเงินสดในอนาคตซึ่งเป็นตัวสะท้อนผลการดำเนินงานของกิจการได้นั่นเอง

12. การวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน (Building up Financial Ratio)

ขั้นตอนนี้จะเป็นการสรุปข้อมูลจากงบการเงินของกิจการให้อยู่ในรูปอัตราส่วนทางการเงินเพื่อใช้วิเคราะห์เปรียบเทียบผลการดำเนินงานของกิจการในปัจจุบันกับในอดีต รวมถึงใช้เปรียบเทียบผลการดำเนินงานกับคู่แข่งหรือค่าเฉลี่ยในอุตสาหกรรมได้ โดยทั่วไปอัตราส่วนทางการเงินที่ใช้วัดผลการดำเนินงานแบ่งออกเป็นด้านต่างๆ เช่น ความมั่นคงเพียงพอของเงินทุน (Capital Adequacy) คุณภาพของสินทรัพย์ (Asset Quality) คุณภาพด้านการจัดการหรือการบริหาร (Management Quality) ความสามารถในการทำกำไรหรือ ความสามารถในการหารายได้ (Earnings) สภาพคล่อง (Liquidity) เป็นต้น นอกจากนี้อัตราส่วนทางการเงินยังสามารถนำมาใช้ในการคำนวณหาราคาหุ้นที่เหมาะสมได้ ที่เรียกว่าการประเมินมูลค่าหุ้นเชิงสัมพัทธ์ (Relative Valuation) ซึ่งอัตราส่วนที่ได้รับความนิยมนำมาใช้ประเมินมูลค่าหุ้นกันอย่างแพร่หลาย คือ อัตราส่วนราคาต่อกำไร (P/E Ratio) เป็นอัตราส่วนที่บ่งบอกว่าผู้ลงทุนยินดีที่จะจ่ายเงินซื้อหุ้นเป็นจำนวนกี่เท่าของกำไรต่อหุ้นที่กิจการสามารถทำได้ โดยคำนวณได้จากการคำนวณหาค่าเฉลี่ยอัตราส่วนราคาต่อกำไรของกิจการในอุตสาหกรรม แล้วนำมาคูณกับกำไรต่อหุ้นของกิจการ ตัวอย่างเช่น กิจการ ABC ดำเนินธุรกิจแปรรูปอาหาร มีกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) เท่ากับ 12 บาท ขณะที่ค่าเฉลี่ยอัตราส่วนราคาต่อกำไร (P/E Ratio) ของอุตสาหกรรมอาหารเท่ากับ 7.5 เท่า ดังนั้นราคาหุ้นที่เหมาะสมของกิจการ ABC มีค่าเท่ากับ 90 บาท แสดงได้ดังนี้

ราคาหุ้นที่เหมาะสมของบริษัท ABC = P/E Ratio ค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม x EPS บริษัท ABC
= 7.5 x 12
= 90 บาท

สำหรับขั้นตอนต่อไปจะนำเสนอวิธีการนำข้อมูลจากแต่ละขั้นตอนตั้งแต่การกำหนดสมมติฐาน การประมาณการงบการเงิน นำไปสู่การสร้างแบบจำลองเพื่อประเมินมูลค่าหุ้นต่อไป

13. การประเมินมูลค่าหุ้นด้วยวิธีคิดลดกระแสเงินสด (Discount Cash Flow Valuation)

เป็นวิธีการหามูลค่าที่แท้จริง (Intrinsic Value) ภายใต้แนวคิดว่าราคาหุ้นในปัจจุบันเป็นราคาที่สะท้อนกระแสเงินสดและผลตอบแทนที่กิจการจะสร้างให้กับผู้ถือหุ้นได้ในอนาคต ซึ่งรูปแบบกระแสเงินสดที่ชัดเจนที่สุดคือ เงินปันผล เพราะเงินปันผลคือสิ่งที่ผู้ถือหุ้นสามัญจะได้รับโดยตรงจากกิจการ ดังนั้นการประเมินมูลค่าจากแบบจำลองคิดลดเงินปันผล (Dividend Discount Model) จึงถือเป็นวิธีที่สอดคล้องกับความหมายการประเมินมูลค่ามากที่สุด โดยมีตัวแปรที่เกี่ยวข้องในการประเมินมูลค่าได้แก่ ผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนต้องการหรืออัตราคิดลด และเงินปันผลที่กิจการจ่ายให้กับผู้ถือหุ้น ตัวอย่างข้อมูลของกิจการ ABC แสดงการคำนวณอัตราผลตอบแทนที่นักลงทุนต้องการ และการประเมินมูลค่าได้ดังนี้

อัตราผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนต้องการ (K) = Rf + (Rm – Rf) x Beta
= 5% + (15% – 5%) x 0.5
= 10%

มูลค่าหุ้น ABC ตามแบบจำลองคิดลดเงินปันผล = D / (K – G)
= 3 / (0.1 – 0.05)
= 60 บาทต่อหุ้น
จากมูลค่าหุ้น ABC ที่ประเมินได้ 60 บาทต่อหุ้น ถ้าราคาหุ้น ABC ในปัจจุบัน เท่ากับ 70 บาทต่อหุ้น แสดงว่าราคาปัจจุบันสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริง (Overvalue) จึงไม่ควรซื้อหุ้นนี้หรือ ถ้าถืออยู่ก็ควรจะขายออกไป ในทางตรงข้ามหากราคาปัจจุบันของหุ้นนี้เท่ากับ 50 บาทต่อหุ้น แสดงว่าราคาปัจจุบันต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง (Undervalue) เป็นต้น

14. การประเมินมูลค่าหุ้นเชิงสัมพัทธ์ (Relative Valuation)

เป็นวิธีการประเมินมูลค่าที่อ้างอิงมูลค่าหุ้นในปัจจุบัน เพื่อให้ได้ราคาหุ้นที่เหมาะสมและสอดคล้องกับราคาหุ้นในปัจจุบัน โดยหลักการประเมินมูลค่าวิธีนี้คือการหามูลค่าจากตัวแปรที่อยู่ในรูปอัตราส่วนทางการเงิน ในที่นี้ขอยกตัวอย่างตัวแปรมูลค่าตามบัญชีของหุ้น (Book Value) เนื่องจากเป็นตัวแปรที่สามารถหาได้ง่ายจากงบการเงินทั่วไป ตัวอย่างเช่น ข้อมูลจากงบการเงินบริษัท ABC แสดงส่วนของผู้ถือหุ้น 500 ล้านบาท และมีจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วจำนวน 10 ล้านหุ้น ดังนั้นบริษัทจะมีมูลค่าตามบัญชีต่อหุ้นเท่ากับ 50 บาทต่อหุ้น (500/10 = 50) ขณะที่ค่าเฉลี่ย P/BV ของอุตสาหกรรมเท่ากับ 1.5 เท่า ดังนั้นราคาหุ้นที่เหมาะสมของกิจการเท่ากับ
= P/BV x BV
= 1.5 x 50
= 75 บาทต่อหุ้น

โดยสรุปการประเมินมูลค่าหุ้นทั้ง 2 วิธี มีทั้งข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน วิธีคิดลดกระแสเงินสดเป็นวิธีการที่สอดคล้องกับความหมายของมูลค่ามากที่สุด เนื่องจากพิจารณาถึงกระแสเงินสดและการเติบโตของกิจการในอนาคต แต่ก็มีข้อเสียคือการไม่ได้อ้างอิงถึงราคาหุ้นในปัจจุบัน ขณะที่วิธีประเมินมูลค่าเชิงสัมพัทธ์มีข้อดีที่ราคาที่ประเมินได้สะท้อนราคาหุ้นในปัจจุบัน แต่ข้อเสียคือเป็นการเปรียบเทียบราคา ณ ช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้พิจารณาถึงแนวโน้มและความสามารถในการสร้างรายได้ของบริษัทในอนาคต

ทั้งนี้การจะเลือกใช้วิธีการใดนั้น จึงควรต้องทำการวิเคราะห์ลักษณะการดำเนินธุรกิจของบริษัท ว่าเหมาะกับวิธีการใดที่จะทำให้การประเมินมูลค่าใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด

ตัวช่วยการจัดทำประมาณการทางการเงิน (Financial Projection)

จากทั้ง 14 ขั้นตอนที่ผ่านมาคงทำให้ท่านทราบถึงกระบวนการประมาณการทางการเงิน และสามารถประเมินมูลค่าบริษัท สำหรับผู้ที่สนใจบริการเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริษัท การเงิน การบัญชี รวมถึงความรู้ด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับบริษัทจดทะเบียน สามารถติดต่อเราได้ที่ Line ID : plusitiveaccounting

บทความโดย อดิศรา พุทธธรรมวงศ์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

เรียบเรียงโดย Plusitive Accounting.

Financial Projection และการรวบรวมข้อมูลทางการเงิน (Preparing Past Financial Statement)