การจดทะเบียนบริษัทและเรื่องภาษีเป็นเรื่องน่าปวดหัวของใครหลายคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการในยุคนี้ต้องมาปวดหัวกับภาษี สำหรับคนที่ไม่ค่อยมีความรู้เรื่องนี้คงต้องทำความรู้จักกับภาษีให้มากขึ้นกว่าเดิม เพราะภาษีนั้นเป็นเรื่องสำคัญ

หลังจดทะเบียนบริษัท ประเภทของภาษีที่ต้องชำระอย่างถูกต้อง 5 ประเภท ได้แก่

1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล

เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากนิติบุคคลที่มีหน้าที่ต้องจ่ายภาษีตามกฎหมาย สำหรับภาษีประเภทนี้จะเก็บกับคนทำธุรกิจที่จดทะเบียนธุรกิจในรูปแบบของบริษัทฯ หรือห้างหุ้นส่วน หมายความว่ากิจการของเรามีหน้าที่ต้องเสียภาษีประเภทนี้อย่างแน่นอน โดยแบบแสดงภาษีเงินได้นิติบุคคลจะมีสองแบบ ได้แก่ แบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.50 ภาษีสำหรับรอบบัญชีที่ต้องยื่นภายใน 150 วันหลังจากวันที่ปิดระบบบัญชี และแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 ที่ต้องยื่นภายในสองเดือนหลังรอบบัญชีภาษีครึ่งปีอีกด้วยนั่นเอง

2. ภาษีหัก ณ ที่จ่าย

ภาษีนี้ฟังดูเป็นภาษากฎหมาย แต่พูดง่าย ๆ ก็คือ เป็นภาษีที่ถูกหักไว้ “ล่วงหน้า” หมายความว่า เราสามารถขอคืนภาษีประเภทนี้ได้ โดยกฎหมายกำหนดให้คนที่จ่ายเงินให้กับกิจการของเรา หรือคู่ค้าของเราที่ซื้อของจากเรามีหน้าที่หักภาษีไว้เมื่อมีการจ่าย ซึ่งเป็นไปตามประเภทของเงินได้ และตามอัตราภาษีที่กำหนด

3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม

สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่มนี้หลายคนจะรู้สึกว่ามันใกล้ตัว เพราะการที่เราซื้อของกินของใช้เราต้องจ่ายภาษีประเภทนี้โดยอัตโนมัติ สำหรับคนทำธุรกิจ ภาษีนี้เป็นภาษีที่เก็บจากมูลค่าส่วนที่เพิ่มขึ้นจากคนทำธุรกิจ หรือให้บริการประเภทต่าง ๆ โดยผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ ผู้ประกอบการ ผู้นำเข้า ผู้ผลิต ผู้ให้บริการ ฯลฯ ซึ่งต้องมีรายได้ต่อปีตั้งแต่ 1.8 ล้านบาทขึ้นไป ไม่ว่ากิจการนั้นจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลก็ตาม หากสนใจเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่มว่าต้องออกอย่างไรให้ถูกต้องและไม่ถูกปรับ สามารถอ่านได้ที่นี่

4. ภาษีธุรกิจเฉพาะ

สำหรับภาษีประเภทนี้จะถูกจัดเก็บในธุรกิจที่เฉพาะเจาะจงตามชื่อ อันได้แก่ กิจการธนาคารพาณิชย์ โรงรับจำนำ อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ใครที่ไม่ได้ทำกิจการที่เข้าข่ายต้องเสียภาษีประเภทนี้ก็สามารถข้ามไปได้

5. อากรแสตมป์

สำหรับอากรแสตมป์นั้นดูเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่มาก แต่ก็จัดเป็นภาษีตามประมวลรัษฎากรอีกประเภทหนึ่งเช่นกัน จะเรียกเก็บเมื่อมีการทำตราสารระหว่างกัน 28 ลักษณะ ตามที่กำหนดไว้ในบัญชีอากรแสตมป์ โดยจะใช้การขีดฆ่าแสดงถึงการใช้แสตมป์ดังกล่าว รายละเอียดสามารถเข้าไปอ่านแบบเจาะลึกได้ที่เว็บของสรรพากร

อย่างไรก็ตามเรื่องภาษีนั้นหากเราทำธุรกิจไม่เหมือนกันย่อมมีความแตกต่างกัน สำหรับความแตกต่างระหว่างภาษีที่เก็บกับธุรกิจที่ขายสินค้า กับธุรกิจทางด้านบริการ นั้นดูผ่าน ๆ เหมือนจะต้องเสียภาษีคล้าย ๆ กัน แต่ในความจริงมีรายละเอียดที่แตกต่างกันโดยภาษีที่เก็บกับธุรกิจที่ขายสินค้าส่วนใหญ่จะต้องเสียภาษี 4 ประเภท ยกเว้นภาษีธุรกิจจำเพาะ แต่ก็มีธุรกิจขายสินค้าประเภทอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเสียภาษีธุรกิจจำเพาะ

จดทะเบียนบริษัท เปิดบริษัทแล้ว มีภาษีตัวไหนที่ต้องรู้บ้าง

สำหรับกิจการที่ขายบริการเป็นหลักที่ต้องเสียภาษีธุรกิจจำเพาะ ได้แก่

  1. การธนาคาร ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ หรือกฎหมายเฉพาะ
  2. การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์
  3. การรับประกันชีวิต ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต
  4. การรับจำนำ ตามกฎหมายว่าด้วยโรงรับจำนำ
  5. การประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ เช่น การให้กู้ยืมเงินค้ำประกัน แลกเปลี่ยนเงินตรา ออก ซื้อ หรือขายตั๋วเงิน หรือรับส่งเงินไปต่างประเทศด้วยวิธีต่าง ๆ และในอนาคตอาจหมายถึง กิจการ Start Up อย่าง ฟินเทค เป็นต้น

จดทะเบียนบริษัทช่วยให้ประหยัดภาษีมากขึ้นไหม?

จะเห็นได้ว่า การเปลี่ยนจากบุคคลธรรมดามาเป็นนิติบุคคล ต้องเสียภาษีหลายตัวมากขึ้น ทั้งๆที่เจ้าของกิจการส่วนใหญ่อยากเสียภาษีน้อยลงทั้งนั้น ที่เป็นแบบนี้เพราะเกณฑ์การเสียภาษีของบุคคลธรรมดากับบริษัทมีความแตกต่างกัน เกณฑ์ในการพิจารณาเลือกความคุ้มค่าในการเสียภาษีระหว่างบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล มีดังนี้

  • อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เสียภาษีสูงสุด 35%
  • อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล เสียภาษีสูงสุด 20%

แม้ว่าอัตราการเสียภาษีนิติบุคคลข้างต้น จะถูกกว่าอัตราการเสียภาษีของบุคคลธรรมดา แต่ไม่ได้หมายความว่า การจดทะเบียนบริษัทจะทำให้คุณเสียภาษีถูกลงเสมอไป เพราะคุณจะต้องคำนึงถึง รายได้ ค่าใช้จ่ายของประเภทเงินได้นั้นๆ รวมถึง อัตราค่าใช้จ่ายที่สามารถหักเหมาได้แตกต่างกัน และการเสียภาษีในรูปแบบบริษัทหรือนิติบุคคล คุณจะต้องทำบัญชีโดยระบุค่าใช้จ่ายของบริษัทตามจริง และมีค่าใช้จ่ายในการทำบัญชีเพิ่มขึ้น นั่นหมายความว่า หากคุณต้องการจดทะเบียนบริษัทเพราะอยากเสียภาษีน้อยลง คุณจะต้องมีกำไรหรือเงินได้สุทธิ 800,000 บาทต่อปี ขึ้นไป (รายละเอียดต่างๆ ขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจ)

หากจดทะเบียนบริษัทแล้ว ในกรณีที่มีปัญหาว่า กิจการใดเป็นการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์หรือไม่ อธิบดีกรมสรรพากรจะเสนอให้คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรพิจารณากำหนดขอบเขต และเงื่อนไขของการประกอบกิจการดังกล่าวนั้นก็ได้ และเมื่อคณะกรรมการวินิจฉัย ภาษีอากรได้วินิจฉัยแล้ว ให้ประกาศคำวินิจฉัยนั้นในราชกิจจานุเบกษา

อย่างไรก็ตามเรื่องภาษีนั้นมีเรื่องราวที่มากกว่านี้ คนทำธุรกิจที่ไม่แน่ใจว่าเราต้องเสียภาษีอย่างไร หรือต้องทำเอกสารและนำส่งอะไรบ้าง ควรหาที่ปรึกษาอย่างสำนักงานบัญชีเพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินงานไปได้อย่างราบรื่นที่สุด สามารถปรึกษาเพิ่มเติมได้ที่ Line ID : plusitiveaccounting

บทความโดย taxbugnoms, iTax

เรียบเรียงโดย Plusitive Accounting Team