มีนักลงทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติจำนวนไม่น้อยที่ให้ความสนใจกับการทำธุรกิจในประเทศไทยมากกว่าประเทศอื่น เนื่องจากประเทศไทยเรามีข้อได้เปรียบอยู่หลายประการไม่ว่าจะเป็นด้านทรัพยากร ภูมิอากาศ ภูมิประเทศ ที่ตั้งเหมาะกับการเป็นศูนย์กลางของอาเซียน โดยเฉพาะการขนส่งและการคมนาคมทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ มีแรงงานทักษะฝีมือคุณภาพจำนวนมาก มีวัตถุดิบทางการเกษตรที่มีศักยภาพทั้งปริมาณและคุณภาพ มีผลผลิตทางการเกษตรที่หลากหลาย เช่น ข้าว ยางพารา อ้อย ผักและผลไม้สด ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพียงพอที่จะสร้างกำไรและผลตอบแทนหลายๆ อย่างให้กับนักลงทุนที่มาลงทุนในประเทศไทยแล้ว
ดังนั้น ทางรัฐบาลจึงได้จัดตั้งโครงการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ขึ้นมา แล้ว BOI คืออะไรหล่ะ นี่คงเป็นคำถามที่หลายท่านสงสัย BOI มีขึ้นเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้กับนักลงทุนที่ต้องการทำธุรกิจในประเทศไทย และเพิ่มความน่าดึงดูดให้กับนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนมากขึ้นไปอีก
สำหรับใครที่ต้องการอ่านเฉพาะบางหัวข้อ สามารถกดเลือกอ่านได้ที่นี่ครับ
BOI คืออะไร??
BOI ย่อมาจาก Board of Investment คือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือและส่งเสริมการลงทุนให้กับกิจการที่อยู่ใน BOI เพื่อเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศไทย โดยการช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุน ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายเริ่มต้นในการลงทุนและเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุน ช่วยให้คำปรึกษาและบริการในการลงทุน เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้มาลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งบริษัทที่จะเข้าร่วม BOI ได้ต้องผ่านหลักเกณฑ์และตรงตามเงื่อนไขของ BOI เท่านั้น
ศึกษาหลักเกณฑ์การส่งเสริมการลงทุนได้ที่นี่
บริการหลักของ BOI
- ให้คำปรึกษาแนะนำ ข้อมูลด้านการลงทุน และขอรับส่งเสริมการลงทุน
- ประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน
- เชื่อมโยงและจัดหาผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ
- การจัดหาผู้ร่วมทุน
- แนะนำและรับรองผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยศูนย์บุคลากรทักษะสูง (Strategic Talent Center: STC)
- แนะนำการลงทุนของคนไทยในต่างประเทศ และจัดอบรมหลักสูตรการลงทุนของคนไทยในต่างประเทศ
สิทธิประโยชน์เมื่อได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI
สิทธิประโยชน์ด้านภาษี
- ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 13 ปี (ขึ้นกับประเภทกิจการและเงื่อนไข)
- ลดหย่อนภาษีเงินได้ 50% อีก 5 ปี (เฉพาะเขตส่งเสริมการลงทุน)
- ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร
- ยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบผลิตเพื่อการส่งออก
- ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับของที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในการวิจัยและพัฒนา
สิทธิประโยชน์ที่ไม่เกี่ยวกับภาษี
- อนุญาตต่างชาติถือหุ้น 100% (ยกเว้นกิจการตามบัญชีหนึ่งท้ายพระราชบัญญัติประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวหรือที่มีกฎหมายอื่นกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ)
- อนุญาตให้ถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน
- อนุญาตให้ช่างฝีมือ/ผู้ชำนาญการเข้ามาทำงาน
8 ประเภทกิจการที่ BOI ให้การส่งเสริมการลงทุน
- เกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตร เช่น กิจการปลูกไม้เศรษฐกิจ, กิจการปุ๋ยชีวภาพและปุ๋ยเคมี, กิจการด้านการเกษตรกรรมต่าง ๆ
- แร่ เซรามิกส์ และโลหะขั้นพื้นฐาน เช่น กิจการเหมืองแร่ ตัดและผลิตโลหะ, กิจการผลิตแก้วและเซรามิคส์
- อุตสาหกรรมเบา เช่น กิจการสิ่งทอ, กิจการผลิตกระเป๋าหรือรองเท้า, กิจการผลิตของเล่น
- ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง เช่น กิจการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และเครื่องจักร
- อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เช่น กิจการซอฟท์แวร์และการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
- เคมีภัณฑ์ พลาสติก และกระดาษ เช่น กิจการผลิตบรรจุภัณฑ์จากกระดาษ, กิจการผลิตยา, กิจการผลิตพอลิเมอร์
- การบริการและสาธารณูปโภค เช่น กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานไฟฟ้าและไอน้ำจากขยะ หรือเชื้อเพลิงจากขยะ, กิจการนิคมและการพัฒนา, กิจการ Cloud service
- การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น กิจการพัฒนาไบโอเทคโนโลยี, กิจการพัฒนานาโนเทคโนโลยี, กิจการพัฒนาดิจิทัลเทคโนโลยี
การขอรับ BOI มี 8 ขั้นตอน
1. ศึกษาข้อมูล
ผู้ขอรับ BOI ศึกษาข้อมูลผ่านทาง www.boi.go.th หรือ BOI ส่วนกลาง ภูมิภาค สำนักงานต่างประเทศ
2. ยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุน (ยื่น Online เท่านั้น)
ผู้ขอรับ BOI ยื่นคำขอผ่านระบบ e-Investment Promotion ทาง www.boi.go.th
3. ชี้แจงโครงการ
ผู้ขอรับ BOI นัดหมายเจ้าหน้าที่ BOI ผู้รับผิดชอบโครงการ เพื่อชี้แจงโครงการ ภายใน 10 วันทำการ นับตั้งแต่วันยื่นคำขอ
4. วิเคราะห์โครงการ
เจ้าหน้าที่ BOI ดำเนินการวิเคราะห์โครงการ โดยใช้ระยะเวลาการพิจารณาตามขนาดการลงทุน
5. แจ้งผลการพิจารณา
เจ้าหน้าที่ BOI ดำเนินการแจ้งผลพิจารณา ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่รับรองรายงานการประชุม
6. ตอบรับมติการส่งเสริมการลงทุน
ผู้ขอรับ BOI ตอบรับมติการส่งเสริมการลงทุน ภายใน 1 เดือน นับตั้งแต่ได้รับหนังสือแจ้งมติ ได้ 2 ช่องทาง คือ ผ่านระบบ e-Investment Promotion หรือยื่นแบบตอบรับมติ BOI (แบบฟอร์ม F GA CT 07)
7. ขอรับบัตรส่งเสริม
ผู้ได้รับ BOI ยื่นขอรับ “บัตรส่งเสริม” พร้อมหลักฐานประกอบการพิจารณา ภายใน 6 เดือน ได้ 2 ช่องทาง คือ กรอกแบบฟอร์มผ่านระบบ e-Investment Promotion ทาง www.boi.go.th หรือกรอกแบบประกอบการขอรับบัตรส่งเสริม (แบบฟอร์มF GA CT 08) พร้อมยื่นเอกสารหลักฐานประกอบการออกบัตร
8. ออกบัตรส่งเสริม
เจ้าหน้าที่ BOI ดำเนินการออก “บัตรส่งเสริม” ภายใน 10 วันทำการ นับจากวันที่สำนักงานได้รับแบบฟอร์มขอรับบัตรส่งเสริมและหลักฐานครบถ้วน
สำหรับใครที่สนใจหรือต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิก BOI สามารถอ่านรายละเอียดการให้บริการด้าน BOI Solotion ของเราได้ หรือสามารถรับคำปรึกษาผ่านช่องทาง Line ID : plusitiveaccounting
บทความโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
เรียบเรียงโดย Plusitive Accounting Team