งบการเงินของแต่ละปีนั้น ต้องผ่านการตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (Certified Public Accountant : CPA) ก่อนที่จะนำส่งงบการเงินไปยังหน่วยงานกำกับดูแลต่างๆ อย่างกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมสรรพากร และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยหน้าที่ของผู้บริหาร พนักงานบัญชีและบุคลากรต่างๆ ในองค์กรก็ต้องจัดเตรียมข้อมูลทางการเงิน เพื่อให้ผู้สอบบัญชีสามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อตรวจสอบได้อย่างเหมาะสม
สำหรับใครที่ต้องการอ่านเฉพาะบางหัวข้อ สามารถกดเลือกอ่านได้ที่นี่ครับ
ผู้บริหารองค์กรหรือกิจการมีภาระความรับผิดชอบต่องบการเงิน
โดยงานสอบบัญชีของผู้สอบบัญชีรับอนุญาตนั้น เป็นกระบวนการหนึ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงในการใช้ข้อมูลของผู้ใช้งบการเงิน และยังช่วยลดความเสี่ยงเกี่ยวกับการทุจริตหรือข้อผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นในงบการเงินได้อีกด้วย ผู้บริหารองค์กรจะเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดทำงบการเงิน ซึ่งหมายถึง ผู้บริหารไม่ต้องมานั่งทำงบการเงินด้วยตัวเอง แต่เพียงแค่มอบหมายให้พนักงานบัญชีภายในองค์กรแทน หรืออาจใช้การว่าจ้างสำนักงานทำบัญชีจากภายนอกองค์กร ให้เป็นผู้รวบรวมข้อมูลทางการเงินเพื่อนำมาจัดทำงบการเงิน อย่างไรก็ดี ผู้บริหารองค์กรก็ยังต้องรับผิดชอบต่อรายการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในงบการเงิน เพราะหากผู้บริหารไม่สนใจ และละเลยการจัดทำบัญชี ปฏิเสธรายการที่ปรากฎในงบการเงิน ก็คงเป็นเรื่องที่เรียกได้ว่า ละเลยต่อหน้าที่
ผู้สอบบัญชีมีภาระความรับผิดชอบต่องบการเงิน
กระบวนการสอบบัญชี เริ่มตั้งแต่การประเมินความเสี่ยงก่อนการตอบรับงานจากกิจการ การวางแผนการตรวจสอบ การรวบรวมหลักฐานการตรวจสอบ จนไปสู่การสรุปผลการตรวจสอบในรายงานของผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ในประเทศไทยนั้น มีกฎหมายหลายฉบับที่เล็งเห็นความสำคัญของกระบวนการสอบบัญชี เช่น
- พระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 มาตรา 8 และมาตรา 11 ได้กำหนดว่า “ให้ (1) ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน (2) บริษัทจำกัด (3) บริษัทมหาชนจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย (4) นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย และ (5) กิจการร่วมค้าตามประมวลรัษฎากร ต้องจัดให้มีการทำบัญชี และงบการเงินต้องได้รับการตรวจสอบและแสดงความเห็นโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต”
- ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1197 กำหนดว่า “งบดุลนั้นต้องจัดให้มีผู้สอบบัญชีคนหนึ่งหรือหลายคนตรวจสอบแล้วนำเสนอเพื่ออนุมัติในที่ประชุมใหญ่ภายใน 4 เดือน นับแต่วันที่ในงบดุลนั้น” และ
- ในพระราชบัญญัติบริษัทมหาชน จำกัด พ.ศ. 2535 มาตรา 109 กำหนดไว้ว่า “บริษัทมหาชนจำกัดต้องจัดให้มีการทำและเก็บรักษาบัญชี ตลอดจนการสอบบัญชีตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น”
ดังนั้น บทบาทและหน้าที่ของผู้สอบบัญชี คือ ผู้รวบรวมหลักฐานประกอบการตรวจสอบข้อมูลทางการเงินที่อยู่ในงบการเงินนั้น เพื่อนำมาสรุปผลและแสดงความเห็นเกี่ยวกับความถูกต้องของการจัดทำงบการเงินให้เป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน สรุปคือ ผู้สอบบัญชีมีความรับผิดชอบในการ “แสดงความเห็นของผู้สอบบัญชี” ไว้ใน “รายงานของผู้สอบบัญชีรับอนุญาต” ซึ่งจะแสดงแนบไปกับงบการเงินของกิจการที่ผู้สอบบัญชีได้ตรวจสอบแล้ว
ประโยชน์ของการสอบบัญชี
อาชีพผู้สอบบัญชีมักถูกตั้งความคาดหวังจากบุคคลต่างๆ ที่ต้องการใช้ประโยชน์จากงบการเงินของกิจการ ว่างบการเงินที่ผ่านการตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีแล้วต้องมีคุณภาพ น่าเชื่อถือ ผู้สอบบัญชีจึงต้องรักษาไว้ซึ่งจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้สอบบัญชี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเป็นอิสระจากกิจการที่ไปตรวจสอบ เพราะแม้หากผู้สอบบัญชีขาดความเป็นอิสระในการทำงานแล้ว ก็จะทำให้งบการเงินที่ผ่านการตรวจสอบนั้นไม่มีประโยชน์ต่อผู้ใช้งบการเงิน เป็นงบการเงินไม่มีคุณภาพ ผู้สอบบัญชีก็ขาดความน่าเชื่อถือ
กรณีผู้สอบบัญชีได้ปฏิบัติงานตามมาตรฐานทางวิชาชีพ รายงานของผู้สอบบัญชีรับอนุญาต รวมทั้งข้อมูลในงบการเงินที่ผ่านการตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีแล้ว ก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้งบการเงินกลุ่มต่างๆ เช่น สถาบันการเงินใช้งบการเงินที่ผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีแล้ว ในการพิจารณาการให้สินเชื่อแก่กิจการ การอนุมัติวงเงินสินเชื่อ อัตราดอกเบี้ย รวมทั้งระยะเวลาการให้สินเชื่อ เป็นต้น สำหรับผู้บริหารของกิจการก็จะใช้ประโยชน์จากข้อมูลในงบการเงินและรายงานของผู้สอบบัญชีในการตัดสินใจลงทุนขยายกิจการ การพิจารณาต้นทุน การควบคุมค่าใช้จ่ายต่างๆ การวางแผนกำไร เป็นต้น สำหรับผู้ลงทุนในกิจการจะต้องสนใจข้อมูลในงบการเงินที่ผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีแล้ว เพื่อใช้ในการพิจารณาเพื่อตัดสินใจลงทุนกับกิจการ ในขณะที่กรมสรรพากรก็สนใจข้อมูลในงบการเงินของกิจการเพื่อใช้ในการประเมินการจัดเก็บภาษีประจำปี
กล่าวได้ว่า การตรวจสอบงบการเงินโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ถือเป็นงานที่ต้องใช้ความรู้ ความสามารถ ต้องมีความเป็นอิสระ ไม่มีแรงกดดันจากผู้ว่าจ้าง งานสอบบัญชีถือเป็นงานด้านหนึ่งของวิชาชีพบัญชี และถือเป็นงานที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ การสอบบัญชีจึงมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความเชื่อมั่นแก่ผู้ใช้งบการเงินผ่านรายงานของผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ว่างบการเงินได้จัดทำขึ้นถูกต้องตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินหรือไม่ งบการเงินมีการแสดงข้อมูลที่ผิดพลาดอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ ไม่ว่าจะเกิดจากการทุจริตหรือข้อผิดพลาดที่มีมูลเหตุจากความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ
ทาง Plusitive Acccounting มีผู้สอบบัญชีรับอนุญาต(CPA) ที่พร้อมสอบบัญชีให้แก่ธุรกิจของท่าน ข้อมูลในงบการเงินที่ผ่านการตรวจสอบมีคุณภาพ เชื่อถือได้และได้การรับรองจากผู้สอบบัญชีรับอนุญาต(CPA) สนใจบริการ ติดต่อได้ที่ Line ID : plusitiveaccounting
บทความโดย อาจารย์ธเรศ สันตติวงศ์ไชย, CPA
เรียบเรียงใหม่โดย Plusitive Accounting Team