เอกสารใบกำกับภาษี เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในเอกสารที่เป็นหัวใจของคนทำธุรกิจทุกคน (โดยเฉพาะคนที่อยู่ในระบบ VAT) ที่ผู้ประกอบการทุกท่านควรทำความคุ้นเคยและเอาใจใส่ ว่าใบกำกับภาษีนั้นคืออะไร และมาประเมินกันต่อว่าเราออกเอกสารนี้ได้ไหม ออกได้เมื่อไหร่ เอกสารใบกำกับภาษีนั้นประกอบด้วยรายละเอียดอะไรบ้าง

รู้ไหมว่า “ไม่ใช่ทุกคนที่ออกใบกำกับภาษีได้”

ใบกำกับภาษี (Tax Invoice) คืออะไร

คือ เอกสารสำคัญที่ผู้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ผู้ขายที่จด VAT) จะต้องออกให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือบริการทุกครั้ง เพื่อแสดงมูลค่าของสินค้าหรือบริการที่คิดกับลูกค้า และภาษีที่เก็บเพิ่มจากราคาสินค้าหรือบริการที่คิดกับลูกค้า (VAT) ซึ่งฝั่งผู้ซื้อก็จะนำเอกสารนี้ไปใช้เป็นภาษีซื้อ ส่วนผู้ขายเองก็เป็นหลักฐานในการทำภาษีขาย

โดยภาษีมูลค่าเพิ่มที่คิดจากราคาขาย ในกรณีเราเป็นคนขายหรือให้บริการนั้นเรียกว่า “ภาษีขาย หรือ Output VAT” แต่หากคุณไปซื้อสินค้าหรือบริการที่ผู้ขายคิดภาษีมูลค่าเพิ่มและเราได้รับเอกสารใบกำกับภาษีมา ส่วนของภาษีที่จ่ายไปจากราคาสินค้าหรือบริการนั้นเรียกว่า “ภาษีซื้อ หรือ Input VAT” นั่นเองครับ

กรณีที่เป็นนิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ 1 ใน 5 ของภาษีที่ต้องเสียให้สรรพากรเท่านั้น 4 ตัวที่เหลือที่ต้องจ่ายมีอะไรบ้าง ศึกษาได้ที่นี่ครับ

แล้วภาษีมูลค่าเพิ่มถูกนำไปใช้ประโยชน์อะไรกับประชาชน

ผลจากการจ่ายภาษีของประชาชนไม่เพียงแค่ทำให้ประเทศชาติมีงบประมาณในการบริหารราชการแผ่นดิน แต่ผลประโยชน์อีกนานัปการที่ประชาชนจะได้กลับไปในรูปแบบของสวัสดิการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตตั้งแต่เกิดจนกระทั่งเสียชีวิต ซึ่งนี่คือผลดีที่ประชาชนจะได้จากการชำระภาษี เพราะสุดท้ายเงินภาษีที่ชำระมาคือการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพลเมืองในด้านต่างๆ โดยภาครัฐจะเป็นผู้จัดสรรตามความเหมาะสมนั้นเอง โดยจะถูกจัดสรรไปเป็นงบประมาณตามลักษณะงาน ดังนี้ (อิงตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี)

  1. งบการศึกษา
  2. งบสวัสดิการผู้สูงอายุ
  3. งบด้านความมั่นคง
  4. งบการขนส่ง
  5. งบสาธารณสุขอื่น (รวมถึงนโยบายบัตรทอง)
  6. งบโรงพยาบาล
  7. งบตำรวจ
  8. งบในลักษณะงานอื่นๆ

ใครเป็นคนที่มีหน้าที่จัดทำใบกำกับภาษี

กิจการที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี มีหน้าที่ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากรภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท ไม่ว่าการประกอบกิจการนั้นจะอยู่ในรูปแบบบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลก็ตาม แต่ว่าสำหรับกรณีที่มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทหรืออยู่ในธุรกิจที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็อาจจะเลือกได้ว่าจะจดหรือไม่ก็ได้ ซึ่งมีข้อดีและข้อควรพิจารณาแตกต่างกันไปครับ

ออกใบกำกับภาษีได้เมื่อไหร่

  • กรณีการขายสินค้า ผู้ขายมีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีให้กับผู้ซื้อทันทีเมื่อมีการส่งมอบสินค้าให้กับผู้ซื้อ (แม้ว่าผู้ซื้อจะยังไม่ได้จ่ายค่าสินค้าก็ตาม)
  • กรณีการให้บริการ ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีเมื่อได้รับชำระค่าบริการ จะเห็นได้ว่าจุดนี้มีความแตกต่างจากการขายสินค้าเลยทีเดียวครับ เนื่องจากการให้บริการนั้นไม่สามารถจับต้องได้เหมือนสินค้าจึงใช้จุดของการจ่ายเงินเป็นเกณฑ์

ผู้ที่ห้ามไม่ให้ออกใบกำกับภาษี

  1. ผู้ที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
    แน่นอนครับ เนื่องจากใบกำกับภาษีเป็นผู้ที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือจด VAT ดังนั้นผู้ประกอบการที่ไม่ได้จด VAT ออกใบกำกับภาษีไม่ได้นะครับ และรวมไปถึงใบกำกับภาษีที่ได้รับจากคนที่ไม่ได้จด VAT ก็ไม่ถือเป็นใบกำกับภาษีที่ใช้ได้ตามกฎหมายเช่นกัน ดังนั้นถ้าเราไปได้รับใบกำกับภาษีมาจากผู้ขายที่ไม่ได้จด VAT ก็ให้ระวังไว้ด้วยว่าอย่านำไปใช้ ไม่งั้นเราเองนี่แหละจะโดนค่าปรับ
  2. ผู้ที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ไม่ได้มีการขายสินค้าหรือให้บริการจริง
    ผู้ประกอบการที่จด VAT จริง แต่ว่าไม่มีการขายสินค้าหรือให้บริการจริง ก็ไม่ได้สามารถออกใบกำกับภาษีได้ และใบกำกับภาษีที่ได้รับมาก็ไม่สามารถใช้เป็นภาษีซื้อได้เช่นกัน หรืออันที่เขาเรียกกันว่า “ใบกำกับภาษีปลอม” นั่นเอง

การออกใบกำกับภาษีปลอมนั้น เป็นอันตรายต่อทั้งผู้ที่ออกและผู้ที่นำเอาภาษีซื้อนั้นไปใช้ เพราะว่าจะมีความผิดทั้งผู้ออกและผู้ที่ใช้ภาษีซื้อ และมีโทษจำคุกอีกด้วย ไม่ใช่แค่โทษปรับเพียงอย่างเดียว

ใบกำกับภาษีมีกี่ประเภท

มีอยู่ 2 ประเภทหลัก คือ

  • ใบกำกับภาษีอย่างย่อ 
  • ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป

แล้วอีกเรื่องที่คนสงสัยกันเยอะก็คือ “ใบเสร็จรับเงินและบิลเงินสดต่างกันหรือเปล่า” สามารถหาคำตอบเพิ่มได้ที่นี่

ใบกำกับภาษีฉบับเต็มและภาษีมูลค่า VAT 7% ออกอย่างไร

ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ

ใบกำกับภาษีเต็มรูปต้องมีรายละเอียดอะไรบ้าง

  1. เห็นคำว่า “ใบกำกับภาษี” ชัดเจน
  2. มีเลขประจำตัวผู้เสียภาษี รวมถึงชื่อและที่อยู่ของผู้ขาย
  3. ชื่อและที่อยู่ของผู้ซื้อ
  4. เลขที่ใบกำกับภาษี
  5. ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และจำนวนเงิน
  6. แยกแสดงจำนวน VAT แยกให้เห็นชัดเจน
  7. วัน เดือน ปี ที่ออก
  8. ข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนด บังคับใช้กับผู้ประกอบการ
    1. ระบุ “สำนักงานใหญ่”หรือ“สาขาที่…..” ของผู้ขาย
    2. เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อ (โดยเฉพาะผู้ซื้อที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม)
    3. ระบุ “สำนักงานใหญ่”หรือ“สาขาที่…” ของผู้ซื้อ

ขายสินค้าหรือให้บริการรายย่อย สามารถออกใบกำกับภาษีอย่างย่อได้

การขายสินค้า หรือให้บริการรายย่อยที่มีมูลค่าครั้งละไม่เกิน 1,000 บาท ถ้าลูกค้าไม่ได้ขอ ก็ไม่ต้องออกใบกำกับภาษีก็ได้ (ออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ) โดยที่

  • ผู้ขายสินค้า หรือให้บริการ ไม่เคยมีฐานภาษี (รายได้) ในเดือนใดถึง 300,000 บาท
  • ผู้ขายสินค้า หรือให้บริการ ที่มีสถานประกอบการเป็นรถเข็น แผงลอย
  • การให้บริการการแสดง การเล่น กีฬา ที่มีการขายตั๋วให้กับผู้เข้าชม หรือผู้เข้าร่วมแข่งขัน
  • การประกอบกิจการโทรศัพท์สาธารณะ
  • การประกอบกิจการทางพิเศษ หรือทางหลวงสัมปทาน
  • การประกอบกิจการสนามบิน
  • การประกอบการกิจการขนส่งมวลชน
  • การขายน้ำมันเชื้อเพลิงของสถานบริการน้ำมัน

ขายให้กับลูกค้าที่ไม่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างไร

สำหรับลูกค้าที่ไม่ต้องการให้ข้อมูลเลขที่บัตรประชาชนในการซื้อขาย เจ้าของกิจการยังมีหน้าที่ในการออกใบกำกับภาษีเต็มรูปเหมือนเดิม (หรือออกใบกำกับภาษีอย่างย่อหากเป็นลูกค้ารายย่อย) แต่สำหรับข้อมูลผู้ซื้อนั้นเพียงแค่ระบุชื่อและที่อยู่ก็เพียงพอแล้ว ซึ่งในทุกๆ ครั้งต้องมีข้อมูลชื่อและที่อยู่ หากมีไม่ครบถ้วนถือว่ามีโทษปรับด้วยนะครับ ดังนั้นอาจจะกำหนดให้มีแบบฟอร์มเล็กๆ ให้ลูกค้ากรอกข้อมูลให้เรา เพื่อที่จะได้ออกเอกสารได้อย่างถูกต้องครบถ้วนครับ

หากอ่านมาถึงตรงนี้ แล้วยังรู้สึกสงสัยการจัดเก็บหรือออกใบกำกับภาษีอยู่ สามารถปรึกษาเราได้เลยนะครับ ว่าต้องออกและจัดเก็บอย่างไรให้ถูกต้องและสามารถเอามาใช้ได้จริงในขั้นตอนการจัดทำบัญชีและยื่นภาษี ที่ Line ID : plusitiveaccounting

บทความโดย Flowaccount และ Peakaccount

เรียบเรียงโดย Plusitive Accounting Team